กรุณาระบุคำค้นหาที่ท่านต้องการ

ประวัติการค้นหา

ลบประวัติการค้นหา
03
มี.ค. 66
ผู้ว่าฯ สมุทรสงคราม เป็นประธานประชุมชี้แจงและให้ความรู้การจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำ แก่คณะกรรมการและคณะทำงานในทุกระดับ
ผู้ว่าฯ สมุทรสงคราม เป็นประธานประชุมชี้แจงและให้ความรู้การจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำ แก่คณะกรรมการและคณะทำงานในทุกระดับ พร้อมทั้งเน้นย้ำกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำผัง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุนชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน

วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 น. นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ประธานกรรมการในคณะกรรมการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo - social Map) จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นประธานการประชุมชี้แจงและให้ความรู้การจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo - social Map) แก่คณะกรรมการระดับจังหวัด และระดับอำเภอ คณะทำงานระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน และระดับชุมชน เพื่อมอบนโยบาย รวมทั้งชี้แจงและให้ความรู้การจัดทำผังภูมิสังคมฯ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยมี นางสริวิไล ปุณณโอภาส โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมด้วยพัฒนาการจังหวัดสมุทรสงคราม และหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งคณะกรรมการระดับอำเภอทั้ง 3 อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะคณะทำงานระดับตำบล เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมอัมพวา ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (VDO Conferences System)

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ปี ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนในแต่ละพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) ทั่วประเทศ โดยการจัดทำผังภูมิสังคม เป็นการจัดทำผังที่แสดงสภาพความเป็นจริงทางภูมิประเทศของพื้นที่ในเชิงกายภาพด้านภูมิศาสตร์ และด้านสังคมศาสตร์ ซึ่งจัดทำขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่มีความเข้าใจสภาพแวดล้อมที่ตนเองอยู่อาศัย โดยเฉพาะเส้นทางน้ำ แหล่งน้ำ จุดเสี่ยง และสิ่งกีดขวางทางน้ำ สภาพปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา รวมถึงปัญหาทางสังคม เช่น คนติดยา คนยากจน คนวิกลจริต และคนเปราะบาง โดยมีหน่วยงานภาครัฐนำเครื่องมือเข้าไปหนุนเสริมความเข้าใจ ความคิด และความต้องการของคนในพื้นที่ นำไปสู่การรวบรวมข้อมูลโดยการเขียนบันทึกในรูปแบบผังภูมิสังคมให้หน่วยงานภาครัฐนำข้อมูลที่ได้รับจากแต่ละพื้นที่ไปจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการจัดทำแผนงานโครงการ/กิจกรรม ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ซึ่งเป็นการน้อมนำแนวทางพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำพระราชดำรัส “อารยเกษตร” สืบสาน รักษา และต่อยอดตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเป็นการนำต้นแบบการบริหารจัดการน้ำและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยนำหลักการ Change for Good มาใช้ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กำหนดให้โครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จก่อนฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566

 

โดยหลังจากการประชุมในวันนี้ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสงครามจะลงพื้นที่เพื่อจัดประชุมชี้แจงและเก็บรวบรวมข้อมูล/ข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ ในแต่ละตำบล และหมู่บ้าน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) และนำไปใช้กำหนดแผนงานโครงการ/กิจกรรม ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อไป

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

PDF

ภาพข่าวกิจกรรม 3 มีนาคม 2566.pdf

ขนาดไฟล์ 1.17 MB | จำนวนดาวน์โหลด 12 ครั้ง | แจ้งไฟล์เสีย
ดาวน์โหลด
กลับไปหน้ารวมข่าวสาร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง